“ความแตกต่างของ Teacher / Trainer / Instructor / Coach / Counselor/ Consultant / Adviser / Mentor และ Guest Speaker“

“ความแตกต่างของ Teacher / Trainer / Instructor / Coach / Counselor/ Consultant / Adviser / Mentor และ Guest Speaker“

 

หลายๆ ครั้ง HRD หรือแม้กระทั่งบุคลากรในองค์กรอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรูปแบบการสอน รูปแบบการถ่ายทอดข้อมูลของผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ว่ามีรูปแบบใดบ้าง? แล้วแต่ละวิธีการมีข้อดีอะไร? เพื่อการที่จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรมากที่สุด

โดยทาง ไอพลัสได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นใจความสำคัญและทำความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สบายๆ จาก ดร.มนูญ พรรณพลีวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการบริหารจัดการองค์กร ดังนี้

 

1. Teaching จะมุ่งเน้นที่เนื้อหา ข้อมูล หรือ Content ต่างๆ ที่จะต้องสอน ว่าตำแหน่งนั้น ต้องรู้อะไรตามเนื้อหา ข้อมูลพื้นฐานสำคัญนั้นเป็นหลัก เพื่อให้ตำแหน่งนั้นๆ มีความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ ครู หรือ Teacher

ข้อดีของรูปแบบนี้…..จะทำให้ผู้ฟัง ได้ทราบถึงพื้นฐานที่สำคัญของตำแหน่งนั้นๆ อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น ทั้งนี้เพราะรายละเอียดการทำงานในปัจจุบันมีมากมาย หลากหลาย สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ บางอย่าง ดูเหมือนสำคัญแต่แท้จริงแล้ว อาจจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ควรให้ความสำคัญก่อนก็เป็นได้

 

 

2. Training จะมุ่งเน้นที่ Competency ของตำแหน่งนั้นๆ ที่เชื่อมโยงกับ Job description เป็นสำคัญ เพื่อทำให้ทราบได้ว่าตำแหน่งนั้นๆควรทำอะไร? อย่างไร? เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายที่องค์กรต้องการ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอด จะคือ Successor ที่ประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์สูงในด้านนั้นๆ

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ เทรนเนอร์ หรือ Trainer

ข้อดีของรูปแบบนี้…..จะทำให้ผู้ฟังมองเห็นที่มา ที่เป็นและที่ไปของการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ได้มากพอสมควร ผู้ฟังได้คิดตาม ประมวลผลตาม แชร์ไอเดีย มุมมองต่างๆ รวมทั้งอาจจะมีกิจกรรม Workshop เพื่อใช้ในการสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

 

3. Instructing จะเน้นที่ Instruction ในการทำงาน เน้นที่การเดินตามรูปแบบที่วางเอาไว้ เพื่อให้ผลเสีย (Waste) น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย และเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดย Instruction ที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ควรถูกคิดค้นและพัฒนามาอย่างยอดเยี่ยมแล้ว

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ วิทยากร หรือ Instructor

ข้อดีของรูปแบบนี้…..จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจรูปแบบการทำงานอย่างลึกซึ้งอย่างเป็นระบบ  เพราะ Instructor จะมีความละเอียด ลึกซึ้งในสิ่งที่ถ่ายทอด เพื่อให้การทำงานเป็นไปตาม Instruction ให้มากที่สุด

 

 

4. Coaching มุ่งเน้นการกระตุ้น การจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ มองไปข้างหน้าพร้อมๆกับผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีดีให้เกิดขึ้น เช่นการ Coaching จะเข้ามาเพื่อกระตุ้นความอยากรู้ ในการพัฒนาตัวเองให้กับผู้เรียน โดย Coaching จะเน้นสอนให้คิด มอบวิธีคิด เน้นให้คำถามนำไปคิด ประมวลผล กำหนดเป้าหมายในอนาคต   Coaching จะไม่ใช่การสอนรายละเอียดในงาน เพราะผู้ถูก Coaching สามารถปฏิบัติงานได้ดีอยู่แล้ว แต่กระตุ้น ผลักดันให้เพื่อการทำงานที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ โค้ช หรือ Coach

ข้อดีของรูปแบบนี้…..ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกในการเรียนอีกรูปแบบนึงเนื่องจาก จะเป็นรูปแบบที่เน้นสร้างความรู้สึก จินตนาการไปข้างหน้า เพื่อสรรสร้างสิ่งดีดีร่วมกัน  โดยไม่มีการตัดสินถูกผิด

 

 

5. Counseling เมื่อบุคลากรในองค์กรได้ปฏิบัติงานไป ย่อมเกิดความเครียด ความกดดันเป็นธรรมดา จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการในการให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือ แก้ไข อาจจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาในอดีต ที่ส่งผลมาถึงในปัจจุบัน ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ไขรวมทั้งหาทางป้องกันอย่างไร? อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากปัญหาด้านจิตใจเป็นองค์กรปะกอบหลัก

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ ผู้ให้คำปรึกษา หรือ Counselor

ข้อดีของรูปแบบนี้…..จะทำให้บุคลากรในองค์กรมีพื้นที่ที่เปิดกว้างในการทบทวนและได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆเช่นกัน เพราะด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและส่งผลมหาศาลกับวิถีชีวิต ความรู้สึกของบุคลากรก็เช่นกัน

 

 

6. Consulting เป็นการมุ่งเน้นที่ระบบ โดยควรจะเป็นระบบที่มีความสำคัญและเร่งด่วนภายในองค์กรเป็นลำดับต้นๆ ในการที่จะเข้าไปให้คำปรึกษา เพราะถือว่าจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเข้าใจระบบเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน อีกทั้งต้องมีความร่วมมือจากบุคลากรภายในองค์กรเองจึงจะทำให้การแก้ไขระบบประสบความสำเร็จ

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ ที่ปรึกษา หรือ Consultant

ข้อดีของรูปแบบนี้…..เป็นการมุ่งเน้นที่ตรงประเด็น เพรามุ่งเน้นที่ระบบภายในองค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีระบบเฉพาะตัว หากระบบได้ถูกแก้ไขอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้บุคลากรใช้ระบบนั้นเป็นแบบอย่างในการดำเนินงานต่อไปได้

 

 

7. Advising มุ่งเน้นที่การมองภาพรวมของการบริหารและจัดการองค์กร ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับองค์กร มีผลโดยตรงต่อทิศทางและความเป็นไปขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต  ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องใช้องค์ความรู้ที่มีคุณภาพล้ำลึกและครอบคลุมอย่างมาก

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ Adviser

ข้อดีของรูปแบบนี้…..จะทำให้บุคลากรได้ทราบถึงมุมมอง ความรู้ ความเข้าใจขั้นสูงในการมองภาพรวมของงองค์กร ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรอยู่รอดกับสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะในยุด Transform & Disruptive Technology เช่นนี้

 

 

8. Mentoring เป็นเหมือนกระบวนการในภาพรวมของทุกทุกรูปแบบที่ผ่านๆ มาเพราะการเป็นพี่เลี้ยงอย่างแท้จริง คือการประคับประคอง ให้คำปรึกษา ชี้แนะแนวทางต่างๆตลอดเส้นทางการทำงาน ซึ่งอาจจะรวมถึงความเข้าอกเข้าใจในการใช้ชีวิตกับผู้ที่ถูกชี้แนะนั้นด้วย

ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ พี่เลี้ยง หรือ Mentor

ข้อดีของรูปแบบนี้…..ซึ่งจะทำให้บุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นรูปแบบที่มีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อน การจะสร้างให้เกิดขึ้นได้จริงๆ ต้องอาศัยผู้ทีมีความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างมาก

 

 

9. Guest Speaker หรือ แขกรับเชิญ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เป็นที่นิยม คือการเชิญผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในฐานะ “แขกรับเชิญ” มาบรรยายในหัวข้อที่กำหนด เป็นระยะเวลาไม่นาน

ข้อดีของรูปแบบนี้…..เป็นการนำเสนอข้อมูล ความรู้ในภาพใหญ่  รวมทั้งอัพเดทสถานการณ์ เทรนด์ความนิยม กระแสและพฤติกรรมของผู้คนโดยรอบ มาให้บุคลากรได้รับข้อมูล ความรู้ที่เป็นประโยชน์

 

จากรูปแบบการให้ความรู้ที่หลากหลายเช่นนี้ ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับฝ่ายพัฒนาบุคลากรในองค์กรจะได้นำไปปรับใช้ในถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กร เพราะความรู้ ความเข้าใจของบุคลากรในปัจจุบันนี้ มีความเฉพาะตัวสูงมาก จึงทำให้ต้องมีการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

ทั้งนี้แนวคิดที่สำคัญคือ

-ปัญหาที่แท้จริงที่ต้องการจะแก้คืออะไร?

-กลุ่มบุคลากรใดภายในองค์กร? ที่มีความสำคัญ เร่งด่วนในการต้องรับการพัฒนาโดยเร็วที่สุด และด้วยรูปแบบใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพที่สุด สิ่งนี้ถือเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญอย่างมาก ที่จะขาดไปไม่ได้

ดังคำกล่าวของ ดร.มนูญ พรรณพลีวรรณ ที่จะย้ำเสมอๆว่า “องค์กรไม่ควรมีรูปแบบตายตัวที่จะใช้เหมือนกันๆทั้งหมด เพราะแต่ละหน่วยงาน แต่ละบุคคลย่อมมีลักษณะเฉพาะตัว”


Reference : iPlus Learning & Consultative รวบรวมข้อมูลจาก ดร.มนูญ พรรณพลีวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการบริหารจัดการองค์กร

เกี่ยวกับ iPlus